มารู้จัก พ.ร.บ. ให้มากขึ้น

17 พฤศจิกายน 2561   967

พ.ร.บ. คือ การประกันรถยนต์ภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.) ที่บังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกจะต้องทำ พ.ร.บ.

    สำหรับ พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะที่เกิดขึ้นกับบุคคลเท่านั้น ไม่คุ้มครองความเสียหายอื่นๆ (คุ้มครองคน ไม่คุ้มครองรถ) โดยความคุ้มครองจาก พ.ร.บ มีมูลค่าความรับผิดชอบ (ต่อคน) ดังนี้
  • ค่ารักษาพยาบาล จ่ายไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน
  • กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร จ่าย ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน

ค่าปรับสำหรับผู้ไม่มี พ.ร.บ.?
สำหรับค่าปรับ ผู้ที่ไม่มี พ.ร.บ. มีความผิด โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากทำแล้วแต่ไม่ติดเครื่องหมายไว้ที่รถให้เห็นชัดเจนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

มี พ.ร.บ. อย่างเดียวพอหรือไม่ ?
พ.ร.บ. นั้น จะคุ้มครองเฉพาะความเสียหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลเท่านั้นสำหรับประกันรถยนต์ กฎหมายบังคับให้คุณต้องซื้อ พ.ร.บ. ไว้เป็นขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ หากคุณต้องการความคุ้มครองเพิ่ม สามารถซื้อประกันภาคสมัครใจได้เพิ่มได้ หรือที่เรียกว่าประกันภัยรถยนต์นั่นเอง

ผู้มีหน้าที่รับประกันตาม พ.ร.บ.

  1. ผู้ประสบภัยจากรถอันได้แก่ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสารคนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ ก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้
  2. ทายาทของผู้ประสบภัยข้างต้น กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หรือเจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัย หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ เช่น รถชนแล้วหนี หรือเจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัยไม่จ่ายค่าเสียหาย ฯลฯ โดยค่าเสียหายเบื้องต้นที่สามารถจ่ายได้ คือ ค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บตามที่รักษาจริงไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต จำนวน 35,000 บาท แต่หากผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิตในภายหลัง ผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่รักษาจริงไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท ซึ่งรวมแล้วไม่เกินจำนวน 50,000 บาท การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯ ผู้ประสบภัยหรือทายาทต้องยื่นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น