ป้ายทะเบียนรถ ประเภทต่างๆ

19 พฤศจิกายน 2561   18486

ถ้าบัตรประชาชนเป็นหลักฐานสำคัญการยืนยันตัวบุคคลแล้ว ทะเบียนรถก็คงไม่ต่างกับหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของรถเช่นกัน และกฎหมายก็กำหนดรถทุกคันต้องติดป้ายทะเบียน

แต่ในปัจจุบัน ที่รถแต่งสวยๆบางคันไม่ยอมติดป้ายทะเบียน จะด้วยค่านิยมที่ติดแล้วดูไม่เท่ ดูขัดๆ ก็แล้วแต่ และยังมีแฟชั่นป้ายทะเบียนกราฟฟิก เพื่อความสวยงาม หรือจะแก้เลขป้ายทะเบียนตามความเชื่อ ที่ตัวเลขไม่สมพงษ์กับเจ้าของ ซึ่งมีหลากหลายมากกับการแก้ไขป้ายทะเบียน ตามเหตุผลที่ต่างกันไป

แต่ก็เพราะการแก้ไขป้ายทะเบียนmujมีอยู่ทั่วไป บางส่วนก็เพื่อประสงค์ไม่ดีก็มี เช่น นำป้ายทะเบียนทูตมาติดเพื่อให้ตำรวจไม่กล้าจับ หรือกรณี ที่รถนำเข้าหนีภาษี ถ้ายังพอกรถไม่ได้ ก็ไม่สามารถออกป้ายจากกรมขนส่งได้ จึงต้องใช้ป้ายปลอมไปแทน และยังมีการนำป้ายปลอมมาใส่เพื่อก่ออาชญากรรม เช่น ปล้นหรือขนยาเสพติด หรือแม้แต่ป้ายจริงไปขูดตัวเลข ตัวอักษรออก เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) บอกว่า ได้ให้นโยบายทุก สน. กวดขันเรื่องการไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน แฟชั่นดัดแปลงป้าย และแผ่นป้ายทะเบียนเลอะเลือน เช่น การขูดออก หรือมีวัสดุอื่นปิดบัง ใช้เครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้ไปใช้อีกคัน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน หรือติดแผ่นป้ายทะเบียนของทางราชการปรับแต่งพับเอียงได้ ไม่ติดตรึงกับรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้เห็นได้ไม่ชัดเจน และเป็นที่สังเกตว่าอาจจะนำไปก่ออาชญากรรมได้
การ กระทำในลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 (กฎกระทรวง พ.ศ. 2547) มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เดิมตำรวจเคยจับปรับราว 100-200 บาท ขณะนี้ได้ให้นโยบายใหม่ปรับเต็มที่ 1,000 บาท ส่วนกรณีปลอมป้ายทะเบียนทั้งฉบับถือเป็นคดีอาญา เข้าข่ายการปลอมเอกสาร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ปรับ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาทซึ่ง สถิติการจับปรับในปัจจุบันกรณีการไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนทั่วกรุงเทพฯ เฉลี่ยเดือนละกว่า 5,000 ราย ส่วนป้ายแฟชั่นอยู่ระหว่างรวบรวมซึ่งน่าจะมีตัวเลขใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตามสำหรับป้ายทะเบียนที่ถูกกฎหมายนั้น กรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลรถตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 โดยใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถตามประเภทของรถ ดังนี้

รถตาม พ.ร.บ. รถยนต์ แบ่งออกเป็น 17 ลักษณะ ดังนี้

  1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ป้ายสีขาวอักษรดำ
  2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ป้ายขาวอักษรฟ้า
  3. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ป้ายสีขาวอักษรสีเขียว
  4. รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล ป้ายสีขาวอักษรสีแดง
  5. รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด ป้ายสีเหลืองอักษรสีแดง
  6. รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน(แท็กซี่) ป้ายสีเหลืองอักษรสีดำ
  7. รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ป้ายสีเหลืองอักษรสีฟ้า
  8. รถยนต์รับจ้างสามล้อ ป้ายสีเหลืองอักษรสีเขียว
  9. รถยนต์บริการธุรกิจ ป้ายสีเขียวอักษรสีขาว
  10. รถยนต์บริการทัศนาจร ป้ายสีเขียวอักษรสีขาว
  11. รถยนต์บริการให้เช่า ป้ายสีเขียวอักษรสีขาว
  12. รถจักรยานยนต์ ป้ายสีขาวอักษรสีดำ
  13. รถแทรกเตอร์ ป้ายสีแสดอักษรสีดำ
  14. รถบดถนน ป้ายสีแสดอักษรสีดำ
  15. รถใช้งานเกษตรกรรม ป้ายสีแสดอักษรสีดำ
  16. รถพ่วง ป้ายสีแสดอักษรสีดำ
  17. รถจักรยานยนต์รับจ้าง ป้ายสีเหลืองอักษรสีดำ
    นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) สำหรับติดรถเพื่อขายหรือเพื่อซ่อม
    ป้ายทะเบียนรถทูต ป้ายสีขาวอักษรสีดำ
    ป้ายทะเบียนกราฟิกสำหรับเลขทะเบียนสวยที่นำออกประมูล เป็นรูปทิวทัศน์แต่ละจังหวัด ตัวอักษรสีดำ

ส่วนรถตาม พ.ร.บ การขนส่งทางบก แบ่งออกเป็น รถโดยสารและรถบรรทุก โดยใช้แผ่นป้ายทะเบียนดังนี้

รถโดยสาร

  1. รถโดยสารประจำทาง เลขทะเบียนขึ้นต้นด้วยเลข 10-19 ป้ายสีเหลืองอักษรสีดำ
  2. รถโดยสารขนาดเล็ก เลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย 20-29 ป้ายสีเหลืองอักษรสีดำ
  3. รถโดยสารไม่ประจำทาง เลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย 30-39 ป้ายสีเหลืองอักษรสีดำ

รถบรรทุก

  1. รถบรรทุกไม่ประจำทาง พื้นแผ่นป้ายสีเหลือง เลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย 70-79
  2. รถบรรทุกส่วนบุคคล พื้นแผ่นป้ายสีขาว เลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย 80-89