กำหนดความเร็วในการขับรถบนทางหลวงในแต่ละที่ สามารถใช้ความเร็วได้เท่าไร

23 พฤศจิกายน 2561   8559

กำหนดความเร็วในการขับรถบนทางหลวงในแต่ละที่ สามารถใช้ความเร็วได้เท่าไร

กฎหมายกำหนดของประเทศไทยนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ซึ่งเป็นกฎกระทรวงออกตามพ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ

รถส่วนบุคคล รถเก๋ง รถแท็กซี่ รถปิคอัพขนาด 1 ตัน สามารถใช้ความเร็วในกทม.หรือ เขตเทศบาล ได้ไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. และนอกเขตกทม.หรือนอกเขตเทศบาลใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม.ต่อชม. รวมถึงบนทางด่วนทุกขั้น (ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร) ด้วย และทางหลวงที่สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม.ต่อชม. มีดังนี้

ทางหลวงหมายเลข 1 : ถนนพหลโยธิน
เป็นทางหลวงสายหลักที่ใช้เดินทางขึ้นเหนือ หรือต่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร และจุดสิ้นสุดอยู่ที่ เขตแดนไทย-พม่า อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย

ทางหลวงหมายเลข 2 : ถนนมิตรภาพ
จะมีจุดเริ่มต้นที่สระบุรี เป็นเส้นทางหลักในการไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลย ช่วงเทศกาลรถมักจะหนาแน่นบริเวณทางขึ้นเขา รอยต่อจังหวัดสระบุรี กับ นครราชสีมา ครับ

ทางหลวงหมายเลข 3 : ถนนสุขุมวิท
เป็นถนนที่จะมุ่งสู่ภาคตะวันออก มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ทางด่วนเพลินจิต โดยถนนสุขุมวิทในเขตกรุงเทพมหานครนั้น จัดเป็นย่านธุรกิจย่านดังย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานครเลยก็ว่าได้

ทางหลวงหมายเลข 4 : ถนนเพชรเกษม
เป็นถนนสายที่จะมุ่งสู่ภาคใต้ เมื่อถึง อ.ชะอำ จะถูกแบ่งเป็น 2 สาย คือ สายเข้าเมืองชะอำ กับสายปกติ (วิ่งรอบนอก) เมื่อถึงแยกปฐมพร จังหวัดชุมพร ทางหลวงหมายเลข 4 ก็จะแยกไปทางทิศตะวันตก ไปยังจังหวัดในฝั่งอันดามัน

ทางหลวงหมายเลข 11 : ภาคเหนือฝั่งตะวันออก
เป็นทางหลวงสายหลัก ที่ใช้วิ่งไปยังจังหวัดภาคเหนือฝั่งตะวันออกได้ เช่น น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เป็นต้น มีจุดเริ่มต้นที่ ต่างระดับอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แยกออกจากถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) สิ้นสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมาตัดกับทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ที่จังหวัดลำปาง โดยช่วงลำปาง-เชียงใหม่ จะใช้ชื่อว่า ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-เชียงใหม่ ซึ่งมีหลักกิโลเมตรที่ 0 อยู่ที่แยกนาก่วม (ตัดถนนพหลโยธินสายเข้าเมืองลำปาง)

ทางหลวงหมายเลข 122 : ถนนเลี่ยงเมืองนครสวรรค์
ปัจจุบันกลายเป็นถนนสายหลักของผู้ที่จะขับรถมุ่งไปยังภาคเหนือ เนื่องจากเข้าเมืองนครสวรรค์นั้น รถค่อนข้างติดมีระยะทางประมาณ 17 กม.

ทางหลวงหมายเลข 31 : ถนนวิภาวดีรังสิต
มีจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ไปสิ้นสุดที่บริเวณแยกอนุสรณ์สถาน จังหวัดปทุมธานี ต่อจากนั้นก็จะเป็นทางหลวงหมายเลข 1

ทางหลวงหมายเลข 32 : ถนนสายเอเชีย
เป็นถนนสายหลัก ที่จะมุ่งสู่จังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือ มีจุดเริ่มต้นจากต่างระดับบางปะอิน (จุดสิ้นสุดถนนกาญจนาภิเษก (ตะวันตก)) และมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่แยกหลวงพ่อโอ จังหวัดชัยนาท จากนั้นจะเป็นถนนพหลโยธินมาทดแทน

ทางหลวงหมายเลข 34 : ถนนบางนา-บางปะกง
หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ บางนา-ตราด เป็นทางหลวงสายหลักที่จะมุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก นอกจากถนนสุขุมวิท แต่ถนนสายนี้รถบรรทุกจะวิ่งค่อนข้างเยอะ ดังนั้น หากจะไปยังภาคตะวันออก แนะนำให้ใช้ Motorway ดีกว่า

ทางหลวงหมายเลข 35 : ถนนพระรามที่ 2
หรือ ธนบุรี-ปากท่อ เป็นถนนสายหลักที่จะมุ่งไปยังภาคใต้อีกหนึ่งเส้นทางนอกจากถนนเพชรเกษม แต่ด้วยเส้นทางนี้มีระยะทางใกล้กว่า จากกรุงเทพ ไป สิ้นสุดที่จังหวัดราชบุรี ที่แยกวังมะนาว และก็จะเข้าสู่เขตจังหวัดเพชรบุรี

ทางหลวงหมายเลข 104 : กำแพงเพชร-ตาก
เดิมเป็นส่วนหนึ่งของถนนพหลโยธิน และเมื่อมีการตัดถนนพหลโยธินสายปัจจุบันขึ้นมาใหม่ (ช่วงกำแพงเพชร-ตาก) ทางหลวงสายนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงหมายเลขไปเป็น 104 จนถึงปัจจุบัน และมีชื่อเรียกว่า ถนนพหลโยธินสายเก่า

ทางหลวงหมายเลข 304 : ปากเกร็ด-นครราชสีมา
เริ่มต้นอยู่ปากเกร็ด ผ่านหลักสี่ มีนบุรี ฉะเชิงเทรา กบินทร์บุรี ทับลาน วังน้ำเขียว ปักธงชัย สิ้นสุดที่แยก
ถนนมิตรภาพ อ.เมืองนครราชสีมา เป็นเส้นทางเสริม(ทางเลี่ยง) ที่สามารถลัดเลาะไปสู่ภาคอีสานได้ ในช่วงวันเทศกาลต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านสระบุรี และลำตะคอง และถนนสายนี้เปรียบเป็นเส้นทางตรงอีกเส้นทางหนึ่งจากภาคอีสานที่สามารถตรงมาชลบุรี ระยองได้เช่นกัน จากถึงกบินทร์บุรี มาพนมสารคาม เลี้ยวซ้ายเข้า
ถนนสาย331 ตรงมาเรื่อยๆ ตัดกับถนนที่ไปชลบุรี แกลง พัทยา ระยอง จนไปสุดเส้นทางที่ สัตหีบ

ทางหลวงสาย 304 : ด้านกทม.และนนทบุรี เป็นถนนฝั่งกทม.และปริมณฑล มีชื่อเรียกหลายชื่อ
ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ (จากท่าน้ำปากเกร็ด ถึง วงเวียนหลักสี่ )
ถนนรามอินทรา (วงเวียนหลักสี่ ถึง แยกมีนบุรี )
ถนนสุวินทวงศ์ (แยกมีนบุรี ถึง ฉะเชิงเทรา ) ทางหลวงหมายเลข 303 : วงเวียนใหญ่ -แหลมฟ้าผ่า (ตากสิน – สุขสวัสดิ์)
เป็นเส้นทางหลักของฝั่งตะวันตกของจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ใจกลางเมืองหลวง มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ วงเวียนใหญ่

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข : 24 (สีคิ้ว – อุบลราชธานี) หรือ ถนนเดชอุดม ชื่อเดิม โชคชัย
– เดชอุดม เป็นถนน 4 เลนมีเกาะกลางถนน ตั้งแต่สีคิ้ว – นางรอง เป็นเส้นทางสายหลักที่มุ่งสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ได้แก่ จังหวัด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ถนนสายนี้เป็นเส้นทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 : (บ้านกรวด – บรบือ)
เป็นเส้นทางสายรอง หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าสายใน ส่วนใหญ่จะเป็นถนนสองเลน เป็นเส้นทางสัญจรของคนในพื้นที่ และเป็นทางผ่านจากจ.บุรีรัมย์ ไปยังจ.มหาสารคาม หรือ จ.ร้อยเอ็ด

ทางหลวงหมายเลย 338 : ถนนบรมราชชนนี ชื่อเดิม ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี
เริ่มต้นที่ เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร สิ้นสุดที่ สามแยกเพชรเกษม-บรมราชชนนี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมระยะทางทั้งสิ้น 34.7 กิโลเมตร

ทางหลวงหมายเลข 341 : ถนนสิรินธร (บางบำรุ)
เริ่มต้นที่ สี่แยกบางพลัด เขตบางพลัด ไปจนถึง แยกต่างระดับ สิรินธร-บรมราชชนนี รวม 3 กิโลเมตร

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 : (นครสวรรค์-พิษณุโลก)
ทางหลวงระดับจังหวัดสายหลักที่เชื่อมการขนส่งจราจรระหว่างจังหวัดนครสวรรค์กับจังหวัดพิษณุโลก มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 131 กิโลเมตร

ส่วนทางหลวงที่สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีแค่ 2 ที่เท่านั้น! คือ

ทางหลวงหมายเลข 7 : มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี
จุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณต่างระดับศรีณครินทร์ จุดเชื่อมต่อถนนพระราม 9 และทางพิเศษศรีรัช ไปสิ้นสุดที่จังหวัดชลบุรี

ทางหลวงหมายเลข 9 : ถนนกาญจนาภิเษก
เป็นถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันได้แล้วเสร็จทั้งโครงการแล้ว ทั้งวงแหวนด้านใต้ และวงแหวนด้านตะวันออก ซึ่งวงแหวนด้านใต้นั้น มีชื่อว่า ทางพิเศษสาย บางพลี-สุขสวัสดิ์ วงแหวนด้านตะวันออกมีชื่อว่า บางปะอิน-บางนา (วงแหวนด้านใต้และวงแหวนด้านตะวันออก เป็นทางพิเศษที่มีการเก็บค่าผ่านทาง ส่วนวงแหวนตะวันตก จะไม่มีการเก็บค่าผ่านทาง)

 

ขอบคุณข้อมูลและที่มาจาก http://auto.mthai.com/news/15010.html bangkokbusclub