ความรู้เรื่องสีรถยนต์

17 พฤศจิกายน 2561   5670

สีรถที่เห็นบนท้องถนน หลากหลายสีสัน จริงๆ มีความแตกต่างในส่วนประกอบ และคุณภาพ วันนี้ โตโยต้านนทบุรีจะมาบอกถึงประเภทของสีรถกัน

ประเภทของสีพ่นรถยนต์ โดยทั่วไปเราแบ่งสีพ่นรถยนต์ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. สี OEM : คือสีที่ใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์ สีชนิดนี้มีเพียงองค์ประกอบเดียว ในการใช้งานอาจนำมาผสมกับตัวทำละลายเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น สีชนิดนี้จะแห้งตัวโดยการการอบที่อุณหภูมิสูงประมาณ 120-160 oC จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สีอบ" (High Bake Paint) หลังจากสีแห้งตัวแล้ว จะมีฟิล์มสีที่มีคุณภาพดีมาก ความแข็งแรงของชั้นฟิล์มสีสูง มีความทนทานต่อตัวทำละลายเช่นทินเนอร์ หรือน้ำมันเบนซิน / ดีเซลได้ดีมาก และทนทานต่อสารเคมีต่างๆ เช่นน้ำมันเบรกได้ดี นอกจากนี้ยังมีการยึดเกาะที่ดีเยี่ยม ให้ความเงาที่ดี มีเนื้อสีมาก รวมทั้งสามารถทนทานต่อแสงแดดได้ดี จึงไม่ซีดจางง่าย มีความคงทนสูงและคงสภาพเดิมได้นานมาก
  2. สี 1K : คือสีระบบ 1 องค์ประกอบ (1 Komponent) คือประกอบด้วยส่วนของตัวสีเพียงอย่างเดียว ในการใช้งานอาจนำมาผสมกับตัวทำละลาย เช่นทินเนอร์เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น แต่ตัวทำละลายที่นำมาผสมนี้ จะไม่นับเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากตัวทำละลายจะระเหยตัวออกไปจนหมดหลังการใช้งาน เหลือเพียงฟิล์มสีที่แห้งตัวแล้วเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว เราจะเข้าใจว่าสี 1K หมายถึง "สีแห้งเร็ว" ซึ่งไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากสี 1K มีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ สี
    • 1K ซินเทติกอีนาเมล หรือสีน้ำมัน เป็นสี 1K แบบแห้งตัวช้า ซึ่งแห้งตัวโดยการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ (Oxidation)
    • สี 1K ไนโตรเซลลูโลส เป็นสี 1K แบบแห้งตัวเร็ว ซึ่งแห้งตัวโดยการระเหยตัวของตัวทำละลาย เช่นทินเนอร์ (Physical Drying)
    • สี 1K อะคริลิค เป็นสี 1K แบบแห้งตัวเร็ว ซึ่งแห้งตัวโดยการระเหยตัวของตัวทำละลาย เช่นทินเนอร์ (Physical Drying)
  3. สี 2K : คือสีระบบ 2 องค์ประกอบ (2 Komponent) คือประกอบด้วยส่วนของตัวสี ซึ่งคือองค์ประกอบที่ 1 และตัวเร่งปฏิกิริยา (Hardener หรือ Activator) ซึ่งคือองค์ประกอบที่ 2 โดยก่อนใช้งานต้องนำทั้ง 2 องค์ประกอบมาผสมกันตามอัตราส่วน เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งจะทำให้สีเกิดการแห้งตัว (Chemical Drying) สี 2K ที่ใช้ในงานสีรถยนต์ จะมี 2 ชนิดหลักด้วยกัน คือสี 2K แบบ "อีพ็อกซี่" และสี 2K แบบ "โพลียูรีเทน" (หรือผสมกับอะครีลิค) สำหรับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ จะเป็นสารประเภท ไอโซไซยาเนท (Isocyanate) ซึ่งจะทำให้สีเกิดการแห้งตัวภายหลังผสมตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด สี 2K หลังจากแห้งตัวแล้ว จะมีคุณสมบัติในด้านความแข็งแรงของชั้นฟิล์มสีสูง มีความทนทานต่อตัวทำละลายเช่นทินเนอร์ หรือน้ำมันเบนซิน / ดีเซลได้ดีมาก และทนทานต่อสารเคมีต่างๆ เช่นน้ำมันเบรกได้ดี นอกจากนี้ยังมีการยึดเกาะที่ดีเยี่ยม ให้ความเงางามสูง มีเนื้อสีมาก รวมทั้งสามารถทนทานต่อแสงแดดได้ดี จึงไม่ซีดจางง่าย มีความคงทนสูงและคงสภาพเดิมได้นานมาก กล่าวคือมีคุณสมบัติที่เทียบเคียงได้กับสี OEM

โดยทั่วไป เราจะเรียกสี 2K ว่า "สีแห้งช้า" ซึ่งก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากสี 2K ในปัจจุบันนี้ ได้ถูกพัฒนาให้สามารถแห้งตัวได้เร็วขึ้นมาก โดยที่คุณสมบัติยังดีเหมือนเดิม

สำหรับการพ่นซ่อมสีรถยนต์ในอู่ หรือศูนย์ซ่อมสีทั่วไปนั้น จะเลือกใช้สีได้แค่ 2 แบบ คือสี 1K หรือสี 2K เท่านั้น ไม่สามารถนำสี OEM มาใช้ได้ เนื่องจากสี OEM จะต้องอบที่อุณหภูมิสูงมาก ซึ่งอู่หรือศูนย์ไม่สามารถทำได้ ในปัจจุบันนี้อู่หรือศูนย์ซ่อมสีชั้นนำจะหันมาใช้สีระบบ 2K เนื่องจากมีคุณภาพโดยรวมที่ดีกว่าสี 1K มาก

เหตุผลที่ทำให้สี 2K มีคุณสมบัติดีกว่าสี 1 K
การแห้งตัวของสีถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลถึงคุณภาพโดยรวมของสี ซึ่งการแห้งตัวที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างองค์ประกอบ 2 ส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในเรซิ่น (RESIN) ของสี และอีกส่วนอยู่ในตัวเร่งหรือฮาร์ดเดนเนอร์ (HARDENER) นั้น ถือว่าเป็นการแห้งตัวที่ทำให้ได้ฟิล์มที่แห้งสมบูรณ์ ฟิล์มสีจึงค่อนข้างแข็งแกร่งและมีคุณสมบัติในด้านอื่นๆ ดีมาก ดังนี้

  1. Durability – ความทนทาน รถยนต์ที่ซ่อมสีโดยใช้ระบบสี 2K จะคงสภาพเดิมและมีระยะเวลาคงสภาพเดิมได้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี
  2. Weather resistance – ความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
  3. Chemical resistance – สามารถทนทานต่อสารเคมีต่างๆ ได้ดี เช่น ทินเนอร์ น้ำมันเบรก
  4. Color retention – สามารถคงสภาพสีเดิม ไม่ซีดจางจากเดิมง่าย
  5. Gloss – มีความเงางามสูง
  6. ให้คุณสมบัติเหมือนสีรถที่ออกจากโรงงานประกอบรถยนต์ O.E.M ( Original Equipment Manufacturing

บทความจาก www.kinggloss.com