ปัญหาที่พบในระบบเบรก

19 พฤศจิกายน 2561   9965

ในการขับรถสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ "เครื่องยนต์" คงหนีไม่พ้น เบรกนั่นเอง คงไม่มีใครกล้าขับรถทั้งๆ ที่เบรกเสียอย่างแน่นอน เพราะนั่นหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตของเราโดยตรง ซึ่งเราสามารถป้องกันโดยการตรวจเช็คระบบเบรกอย่างสม่ำเสมอ และหากใครรู้สึกเบรกมีอาการแปลกๆ แต่ยังไม่แน่ใจว่าเบรกของตนมีอาการผิดปกติแบบไหน ลองมาอ่านดูครับ

  1. เบรกตื้อ เวลาเหยียบเบรกจะรู้สึกแป้นเบรกแข็ง เบรกไม่ค่อยอยู่ อาการเบรกตื้อนี้มีหลายสาเหตุ เช่น หม้อลมเบรกแรงดูดสุญญากาศน้อย เนื่องมาจากปั้มไดชาร์จเสีย หรือยางหม้อลมรั่วซึม วาล์ว PVC เสีย สายลมรั่ว ถ้ามีอาการเบรกตื้อควรรีบไปหาช่างเพื่อซ่อมแซมโดยด่วน
  2. เบรกต่ำหรือเบรกจม เวลาเหยียบเบรกจะรู้สึกแป้นเบรกจมลงมากผิดปกติ พอเหยียบค้างเบรกจะค่อยๆ จมลงไปเรื่อยๆ จากทุกที และการชะลอตัวของรถก็น้อยกว่าปกติ อาการนี้เกิดมาจากลูกยางแม่ปั้มเบรกบนมีการสึกหรอ ทำให้แรงดันเบรกลดลง ทำให้ต้องกดเบรกมากกว่าปกติ หรือย้ำเบรกหลายครั้ง
  3. เบรกติด อาการเหมือนรถที่เบรกทำงานตลอดเวลา รถวิ่งตื้อ วิ่งไม่ค่อยสะดวก รถวิ่งปัดไปทางใดทางหนึ่ง ผ้าเบรกร้อนมีกลิ่นเหม็นไหม้ เพราะลูกยางกันฝุ่นของแม่ปั้มเบรกเสีย ทำให้กระบอกเบรกมีความชื้นหรือน้ำเข้าจนเกิดสนิม และส่งผลให้ลูกสูบเบรกติด กดจานเบรกตลอดเวลา
    การแก้ไข เปลี่ยนชุดซ่อมแม่ปั้มเบรกล่าง ถอดกระบอกเบรกและลูกสูบ มาขัดสนิมออก หรือถ้ามีสนิมมากจนเกิดตามด จะทำให้น้ำมันเบรกรั่วซึมได้ ต้องเปลี่ยนลูกสูบเบรก หรือแม่ปั้มทั้งชุด
  4. เบรกแตก อันนี้อันตรายที่สุด เวลาเหยียบแป้นเบรกจะจม จนกดติดพื้น และไม่มีการลดหรือชะลอความเร็ว ซึ่งจะเกิดอุบัติเหตุไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    สาเหตุ
    • น้ำมันเบรกรั่วจากระบบ อาจมีการแตกชำรุด ของอุปกรณ์จนทำให้น้ำมันเบรกไหลออก จนไม่สามารถส่งถ่ายแรงดันไปกดกระบอกสูบเบรกได้ เช่น ท่อแป๊บน้ำมันเบรก ลูกยาง ตามจุดต่างๆเสื่อมสภาพ
    • ผ้าเบรกหมด จนหลุดออกมา กรณีที่ไม่สังเกตผ้าเบรก และปล่อยจนผ้าเบรกหมด ตัวผ้าเบรกจะบางจนหลุดจากฝักก้ามเบรก และจะทำให้ลูกสูบเบรกหลุด
    • ส่วนประกอบหลุดหลวม ซึ่งก็มีหลายจุดที่ให้ตรวจเช็ค เช่น สากแป้นเบรก น็อตยึดขาเบรก ฝักเบรก คาริบเปอร์ ซึ่งขับไปนานๆก็อาจมีการหลวม เคลื่อนได้ และอาจมากจนหลุดออกมา
    • สายอ่อนเบรกแตก เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด สายอ่อนเบรกนั้นเวลาจอดจะไม่เห็นสิ่งผิดปกติ แต่เมื่อเสื่อมสภาพ สายพวกนี้เวลาเบรกจะพองตัว ไม่สามารถส่งน้ำมันไปยังกระบอกเบรกได้เต็มที่ และกรณีที่เบรกแรงๆ สายอ่อนนี้อาจแตกได้ ทำให้เบรกแตกในที่สุด หรือ บางทีช่างที่เปลี่ยนผ้าเบรกเวลาใส่แล้วางตำแหน่งสายอ่อนเบรกไม่ดีจะทำให้สายเสียดสีกับล้อจนเสียหายได้ในที่สุด
  5. เบรกหมด คือผ้าเบรกที่ใช้หมดจนเหลือแต่แผ่นรองเบรก จนเกิดการเสียดสีกับจานเบรกรุนแรง มีเสียงดัง จริงๆ ก่อนจะเกิดอาการนี้ ผ้าเบรกทั่วไปจะมีลิ้นยื่นออกมาเพื่อเป็นตัวเตือน เวลาผ้าเบรกใกล้หมด ซึ่งลิ้นนี้จะขุดกับจานเบรก จิ๊ดๆ บอกเราว่าผ้าเบรกบางแล้ว ซึ่งบางคนไม่ใส่ใจจนผ้าเบรกหมดก็คงต้องเสียเงิน ค่าจานเบรกเพิ่มอีก แต่ในรถรุ่นใหม่ๆ จะมีเซนเซอร์เตือนผ้าเบรกบอกบนหน้าปัดแล้ว
  6. เบรกสั่น เวลาเหยียบเบรก แป้นเบรกจะสั่น ซึ่งถ้าเป็นมากๆ พวงมาลัยจะสั่น หรือสั่นทั้งคันรถ สาเหตุจากจานเบรกคดตัว โดยมักจะเกิดจาก การใช้งานเบรกหนักเกินไป หรือขับรถมานานๆ ผ้าเบรกร้อนจนแดง แล้วลุยน้ำ จนผ้าเบรกหดตัว หรืออาจแตกได้ด้วยซ้ำ หรือ ลูกปืนล้อหรือน็อตล้อหลวม ผ้าเบรกสึกไม่สม่ำเสมอ
  7. เบรกเสียงดัง มักมาจากเสียงเสียดสีของผ้าเบรกกับจานเบรก เช่น จานเบรกเป็นรอยเนื่องจากฝุ่น หรือผ้าเบรกไม่ได้มาตรฐาน ผ้าเบรกมีรอยร้าว หรือแม้แต่เปลี่ยนผ้าเบรก แล้วไม่ได้เจียร์จานเบรก ทำให้ผ้าเบรกและจานเบรกไม่แนบกันสนิท จนเกิดเสียงเสียดสีขึ้น